สื่อนอกรายงาน ยุบพรรคก้าวไกล เป็นการถดถอยทางประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของไทย ทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
วันที่ 7 ส.ค.2567 หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล สื่อต่างประเทศต่างให้ความสนใจรายงานข่าวนี้อย่างใกล้ชิด
รอยเตอร์ รายงานว่า มติยุบพรรคซึ่งได้รับชัยชนะได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 นับเป็นการถดถอยทางระบอบประชาธิปไตยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญกับการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มทุนเก่า และบรรดาผู้นำระดับสูงจากกองทัพ
มติของศาลรัฐธรรมนูญยังเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย หลังรอยร้าวระหว่างกลุ่มของสถาบันกับพรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร เริ่มปรากฏขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน
อ่านข่าว : พิธา โบกมือ หลังฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ลั่นทำงานต่อแม้ไม่ได้อยู่ในสภา
อ่านข่าว : ข้าไม่ตาย! ก้าวไกล ปล่อยคลิป การเดินทางเริ่มอีกครั้ง จับตาสปอย
อ่านข่าว : “ชัยธวัช“ ชูกำปั้น “แล้วผมจะกลับมาใหม่” ลั่นอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
เอเอฟพี ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองที่โด่งดังที่สุดในปัจจุบันเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีด้วย
ขณะที่ บีบีซี มองว่า มติยุบพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่ใช่จุดอวสานของความเคลื่อนไหวของบรรดาฝ่ายที่ต้องการการปฏิรูป เนื่องจาก สส. 142 คนที่อยู่ในสภาน่าจะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่และทำงานในฐานะฝ่ายค้านต่อไปได้
การยุบพรรคก้าวไกลยังเป็นปรากฏการณ์ซ้ำรอยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าที่คาดไว้เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งนำไปสู่การประท้วงใหญ่กลางท้องถนน นำโดยกลุ่มนักศึกษาและคนที่มีแนวคิดรุ่นใหม่
เอพี ระบุว่า ก่อนหน้าการตัดสิน นางเอมี สมิธ ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ระบุถึงความพยายามยุบพรรคก้าวไกลว่า เป็นการการโจมตีโดยตรงต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และทำลายความมุ่งมั่นของไทยต่อการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ นายเบ็น คาร์ดิน วุฒิสมาชิก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ยังเคยส่งจดหมายแสดงความกังวลไปถึงรัฐบาลไทยด้วยว่า การตัดสินยุบพรรคที่ชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะถือเป็นการทุบทำลายกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงนับล้านคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปตามแนวทางประชาธิปไตย
ส่วน ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การตัดสินยุบพรรคก้าวไกลจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า และสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแปรปรวนทางการเมืองในไทยให้มากขึ้นไปอีก และเป็นการทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เดิมรู้สึกเหมือนเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมในยุคของรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ให้รู้สึกย่ำแย่ลงไปอีก เพราะสะท้อนว่าความหวังที่ระบบการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปนั้นแทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้คำตัดสินของศาลยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ประจักษ์แจ้งแก่ทุกฝ่ายแล้ว ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นจะต้องดำรงอยู่ โดยไม่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดจะสามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขได้โดยมิอาจละเมิดรัฐธรรมนูญได้หากการแก้ไขนั้นเป็นการลดทอนสถานะของสถาบัน
เอบีซีนิวส์ รายงานว่า ดร.เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นน่าจะถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วจากบรรดาแกนนำพรรคหลังจากการที่ชนะการเลือกตั้งแต่กลับต้องเป็นฝ่านค้าน สะท้อนว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะกำจัดก้าวไกลออกไปจากอำนาจการเมือง
ดร.เอม ระบุว่า นักการเมืองจากพรรคก้าวไกลเคยบอกกับตนว่าเตรียมการไว้ถึงขั้นที่มีพรรคสำรองตั้งไว้ 3 ถึง 4 พรรค ซึ่งต้องมาคิดชื่อพรรคใหม่ ส่วนตัวจึงมองว่าการยุบพรรคน่าจะเป็นการกระตุ้นบรรดากลุ่มคนที่เลือกพรรคก้าวไกลให้ตื่นตัวมากขึ้นผ่านการสร้างความไม่พอใจ แต่ไม่แน่ใจว่าความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเพียงใด คำถามคือ พรรคใหม่ต่อไปจะสามารถนำความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนี้ มาแปลงเป็นพลังในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่
ดร.เอม กล่าวต่อด้วยว่า การยุบพรรคก้าวไกลอาจทำให้ได้พรรคใหม่ที่จะยกระดับการปฏิรูปให้มากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อสมัยพรรคอนาคตใหม่นั้นยังไม่ได้รับคะแนนเสียงเท่าก้าวไกล เพียงเพราะประชาชนคิดว่าเป็นพรรคที่มีแนวคิดแตกต่าง แต่แทนที่ลดระดับลง ทางผู้เกี่ยวข้องกลับยกระดับนโยบายปฏิรูปเข้มข้นขึ้นไปอีก จนกลายมาเป็นก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งในที่สุด
“พวกเค้าเสียงดังมากยิ่งขึ้นต่อเรื่องการปฏิรูป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับกลุ่มต่อต้าน และที่สำคัญคือต่อต้านอำนาจกองทัพสุดๆ พวกเค้าได้เรียนรู้ว่ายิ่งยกระดับให้เข้มข้นมากขึ้นเท่าใด ก็มียิ่งมีคนเลือกมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก” ดร.เอมระบุ
นอกจากนี้ ดร.เอม ยังมองว่า ความรู้และความเข้าใจทางการเมืองและต่อรัฐธรรมนูญของคนไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยสนใจและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองมากกว่ายุคใดๆ