ค้นพบ “เอเชียไทแรนนัส สวี” – ซินหัว รายงานว่า ทีมนักวิจัยทางบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติเจ้อเจียง ประเทศจีน ระบุชนิดของไดโนเสาร์ “ไทแรนโนซอรัส” (Tyrannosaur) สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสเมื่อราว 72-66 ล้านปีก่อน
และตั้งชื่อว่า “เอเชียไทแรนนัส สวี” (Asiatyrannus xui) เพื่อเป็นเกียรติแก่สวีซิง นักวิจัยชาวจีนผู้มุ่งมั่นทำวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์
นายเจิ้ง เหวินเจี๋ย นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติเจ้อเจียง เปิดเผยผ่านวารสารไซเอนทิฟิก รีพอร์ตสว่า ตัวอย่างฟอสซิลที่ทำการวิจัย ประกอบด้วยส่วนกะโหลกที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ กระดูกสันหลังส่วนหาง และกระดูกขาหลัง ถือเป็นไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัสจมูกและปากลึกตัวแรกที่ค้นพบในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
ขณะที่การวิเคราะห์ทางมิญชวิทยาหรือจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อ พบว่าตัวอย่างต้นแบบของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ไม่ใช่ตัวที่โตเต็มวัย แต่ได้ผ่านช่วงระยะการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดมาแล้ว
นายเจิ้งเสริมว่าหัวกะโหลกความยาว 47.5 เซนติเมตร และลำตัวยาวราวครึ่งหนึ่งของ “ไดโนเสาร์เฉียนโจวซอรัส” (Qianzhousaurus) ซึ่งคาดว่าอาจมีขนาดยาวถึง 9 เมตรในระยะการเจริญพันธุ์เดียวกัน
ทั้งนี้ ไดโนเสาร์ไทแรนซอรัสยุคแรกปรากฏขึ้นในยุคจูแรสสิกตอนกลางหรือเมื่อ 165 ล้านปีก่อน และกลายมาเป็นนักล่าชั้นยอดในระบบนิเวศที่อาศัยอยู่ ทั้งในเอเชียและอเมริกาเหนือช่วง 20 ล้านปีสุดท้ายของยุคครีเทเชียส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พบฟอสซิล “รอยเท้าไดโนเสาร์” กว่า 400 รอยในยูนนาน-คาดอายุ 120 ล้านปี (คลิป)
เผยฟอสซิลใน “เจียงซี” เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่-ตั้งฉายา “ต๋าไท่หลง-มังกรรถถัง”
พบฟอสซิล “กานดิไททัน คาโวคอดาตัส” ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่-เก่าแก่ 90 ล้านปีก่อน!